วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.ได้จัดพิธีมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น ประจำปี 2559 ณ ห้องบอลรูม 1-2 โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส โดยท่าน ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงานและให้ปาฐกถาพิเศษ นอกจากนั้น ในงานยังได้มีนิทรรศการผลงานวิจัยเด่น จำนวน 13 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือก
หนึ่งในผลงานวิจัยเด่นที่ได้รับคัดเลือกนั้นคือ มีงานวิจัยของชุมชนชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต โดยในวันนี้ได้มีนักวิจัยที่เป็นชาวบ้านชุมชนชาวเลราไวย์มาเป็นผู้รับรางวัล
ในการจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์
1. เพื่อสื่อสารผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลสู่สาธารณะในรูปของหนังสือผลงานเด่น โปสเตอร์ นิทรรศการ และสื่อวีดีทัศน์
2. เพื่อให้ผู้ร่วมงาน สื่อมวลชน และสาธารณะชนเกิดความเข้าใจในเนื้อหางานวิจัยได้โดยง่าย และสามารถนำข้อมูลผลงานวิจัยไปใช้ในการสื่อสาร เผยแพร่ และใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
งานวิจัยของชุมชนชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต คือ
โครงการสืบค้นประวัติการตั้งถิ่นฐานและวิถีวัฒนธรรม เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิมและแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ชาวเล บ้านราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
คำถามวิจัย
กระบวนการสืบค้นข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิมและนำไปสู่การแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ชาวเล บ้านราไวย์ ควรเป็นอย่างไร ?
โดยจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่ 5 ชุมชน และที่มีปัญหารุนแรงเรื่องที่ดิน คือ ชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ชาวเลหาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนชาวเลขนาดใหญ่จำนวน 244 หลังคาเรือน มีประชากรกว่า 2,000 คน มีทะเบียนบ้านถาวร 130 หลัง มีพื้นที่กว่า 24 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งชาวเลอาศัยมานานกว่า 300 ปี มีทั้งที่เป็นชาวอูรักราโวยและชาวมอแกน ผู้อาวุโสในหมู่บ้านบอกว่าเกิดมาก็เห็นมีอูรักราโวยอยู่ก่อนต่อมาก็มีมอร์แกนเข้ามาอยู่ตอนหลังประมาณปี 2485 ต่อมาก็ได้แต่งงานด้วยกัน อยู่กันภายในชุมชนเรื่อยมา มีหลักฐานสำคัญ คือ ปี พ.ศ. 2502 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมชาวเลบ้านราไวย์ และปี พ.ศ. 2508 เอกชนออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของชุมชนชาวเล มีเอกชนอ้างสิทธิและแบ่งที่ดินออกมาเป็นแปลงย่อยๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการอยู่อาศัยของชาวเลและกระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ดิน พบว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับที่ชุมชนดั้งเดิมของชาวเล และมีมติให้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิที่ดินของเอกชน แต่ไม่มีความคืบหน้าในทางปฏิบัติ
ในที่ดินบางแปลงเริ่มมีการฟ้องขับไล่ชาวเลแล้วจำนวน 20 หลังคาเรือน และมีแนวโน้มจะถูกทะยอยฟ้องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมี 2 หลังคาเรือนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ออกจากพื้นที่ และเรื่องอยู่ระหว่างการอุธรณ์ ด้วยเหตุผลเอกชนมีเอกสารสิทธิที่ดินและเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานมหาชนที่ศาลจะต้องเชื่อไว้ก่อนว่าออกมาโดยชอบ ทั้งที่ชาวเลอาศัยมายาวนาน รวมทั้งชาวเลที่เหลือต้องเดินทางไปขึ้นศาลเป็นระยะ
การมีความคิดความเชื่อว่าที่ดินและท้องทะเลเป็นของทุกคน ไม่ยึดถือเป็นของตนเอง การไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หนังสือและสื่อสารภาษาไทยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ทำให้เป็นเรื่องยากมากสำหรับการขึ้นศาลของชาวเล รวมทั้งปัญหาความยากจนทำให้ชาวเลเสียเปรียบเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันชาวเลกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิซ่อมสร้างบ้านของตนเอง เพราะจะถูกเอกชนที่อ้างสิทธิเหนือที่ดินฟ้องร้อง / แจ้งความจับกุม ทำให้สภาพบ้านทรุดโทรมแออัด ไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาจากองค์กรท้องถิ่น ทำให้ไม่มีท่อระบายน้ำ ไม่มีทางเดินเท้า ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นของตนเอง ต้องซื้อพ่วงจากบ้านอื่นๆ ทำให้ต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่าคนทั่วไปถึง 2- 3 เท่า นอกจากปัญหาที่ดินแล้ว ชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ยังได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และเขตอุทยาน ทำให้ออกทะเลลึกขึ้น มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของโรงแรม รีสอร์ท ทำให้ผู้หญิงชาวเลไม่มีสิทธิ์เข้าไปหาหอยบริเวณหน้าหาดต่างๆ ส่งผลต่อรายได้ของชาวเลที่ลดน้อยลง ทำให้เกิดหนี้นอกระบบ ส่งผลต่อครอบครัวและโอกาสทางการศึกษาของเด็กเยาวชน
ในกระบวนการพัฒนาของชุมชน ได้มีการจัดทำข้อมูลครัวเรือน แผนผังชุมชน การร่วมกับทางอำเภอทำหลักฐานขอมีบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่ตกหล่น ปรับปรุงห้องน้ำรวมของชุมชน ร่วมกันตั้งกองทุนเพื่อแก้หนี้นอกระบบ กองทุนเพื่อการต่อสู้คดี และแกนนำชุมชนชาวเลได้ทำหนังสือและเดินทางไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาแล้วจำนวนมาก ทั้ง กระทรวงวัฒธรรม ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งรวมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ผลักดันให้มีการแก้ปัญหาระดับนโยบาย ฯลฯ
จากสภาพปัญหาและข้อจำกัดต่างๆรอบด้านของชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ ปัญหาที่ดินซึ่งเป็นกรณีพิพาทกับเอกชนเป็นปัญหาใหญ่ ของชาวเลบ้านราไวย์ทั้งชุมชน และนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเห็นว่าชาวเลบ้านราไวย์ ควรยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เกิดการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ทับชุมชนชาวเลดั้งนั้น การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ระหว่างสิทธิชุมชนดั้งเดิมตามรัฐธรรม กับเอกสารสทธิที่ออกมาโดยมิชอบทีหลัง เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้/การสืบค้นข้อมูล/การวิเคราะห์ปัญหาและทำความเข้าใจร่วมกันของชาวเลในชุมชนอย่างรอบด้าน จึงเกิด "โครงการสืบค้นประวัติการตั้งถิ่นฐานและวิถีวัฒนธรรม เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิมและแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ชาวเล บ้านราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต"