เมนูเนื้อหา ► สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ► ผลการดำเนินงานของมูลนิธิชุมชนไท ► ข้อจำกัดที่ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพ ► SWOT ► แนวทางในการพัฒนา ► ต้นทุนกลไกความร่วมมือ ► บทเรียนข้อค้นพบข้อจำกัดและแนวทางการแก้ไข ► ความมุ่งมั่นของการดำเนินงาน ► พื้นที่การดำเนินงานนำร่อง |
สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ในปัจจุบันทั่วโลกเผชิญกับปัญหาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก แนวทางหนึ่ง ในการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนคือ การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถปฏิบัติได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศให้เกิดเครือข่ายให้มีพลังในการลดความเสี่ยงภัย
จากรายงานสถิติการเกิดภัยพิบัติและตัวเลขความเสียหาย ของศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2561 พบว่า การเกิดอุทกภัยส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,727 คน มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 55 ล้าน คน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2551-2560 ส่งผลให้มีผู้ ได้รับผลกระทบมากกว่า 100 ล้านคน สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรกว่า 14 ล้านไร่ และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กว่า 6,000 ล้านบาท
ในขณะที่ภาคใต้ของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุโซนร้อน "ปาบึก" ที่พัดถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเล เมื่อวันที่ 3–5 มกราคม 2562 ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกเป็น บริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากใน หลายพื้นที่โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม ทั้งสิ้น 23 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 265,132 ครัวเรือน (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, 2562) นอกจากนี้ในเดือนมีนาคม 2562 ทั่วประเทศ ต้องเผชิญกับภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ่ มีผลให้ปริมาณฝนลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี (ไทยรัฐออนไลน์, 2562)
จากรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 6 (AR6-Assessment Report 6) ซึ่งมีกำหนดจะเผยแพร่ ในปี 2564 มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ในช่วง พ.ศ.2562-2565 จะ เป็นปีแห่งความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยช่วงปีที่ ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นและอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ได้รับ อิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนิญโญตั้งแต่กลางปี 2561 อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ในปีนี้จะไม่ รุนแรงเท่าปี พ.ศ.2558-2559 รวมทั้งปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้มีมากกว่าปี 2559 แต่ปัจจัยที่อาจจะทำให้สถานการณ์ รุนแรงขึ้น คือ การใช้น้ำมากขึ้นจากพื้นที่การทำนาปรัง การเพาะปลูกพืชเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด การทิ้งช่วงของฝน ซึ่งในปีนี้มีการคาดการณ์ว่า ในภาพรวมปริมาณฝน จะน้อยกว่าปกติ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม และจะเริ่มตกชุกหน้าแน่นในเดือนสิงหาคมถึงเดือน กันยายนนี้
นอกจากนี้ การคาดการณ์ในปี 2564-2565 ประเทศ ไทยอาจจะเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากการเข้าสู่สภาพอากาศจากปรากฏการณ์ ลานีญา แต่จะไม่รุนแรงเท่ากับอุทกภัยในปี 2554 จึงควรมี การวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ (เสรี ศุภ ราทิตย์, 2562)
สถานการณ์ปัญหาที่สำคัญด้านภัยพิบัติทางสุขภาพ
การระบาดของ COVID-19 ทุกชุมชนที่เป็นพื้นที่เป้าหมายของการดำเนินโครงการต่างได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งมีการควบคุมการเดินทางข้ามพื้นที่ การรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อจากทางเดินหายใจ การปรับตัวของการดำเนินโครงการจึงไม่เพียงแต่มีการนำเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตมาใช้สื่อสาร แต่ยังมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือกันข้ามพื้นที่ในช่วงที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวอีกด้วย
เหตุการณ์นี้ทำให้สมาชิกในเครือข่ายเกิดความตระหนักในการปรับวิถีชีวิตและการทำอาชีพที่ต้องระวังตัวจากการติดเชื้อที่แพร่ผ่านทางเดินหายใจ ซึ่งการจะสร้างทางเลือกใหม่ใดๆ ที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ต่อไปได้ จำเป็นที่จะต้องมีการให้ความรู้และทักษะในมิติสาธารณสุขสำหรับการประเมินสถานการณ์ไปจนถึงการวางแผนว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ทั้งในภาวะที่ยังไม่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และในภาวะที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติพร้อมกับมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งต้องทำงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
สถานการณ์ปัญหาที่สำคัญด้านกลไกรับมือภัยพิบัติ
นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภัยพิบัติ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานสาธารณสุข เป็นต้น ยังขาดการดำเนินงานในเชิงการสื่อสารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ตลอดจนมาตรการการป้องกันในระดับชุมชนและเครือข่าย เพื่อลดผลกระทบจากด้านภัยพิบัติไปยังประชาชนที่เชื่อมโยงความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมด้านภัยพิบัติ ที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างพื้นที่ เชื่อมโยงองค์ความรู้และการทำงานวิชาการด้านภัยพิบัติจากหลากหลายภาคส่วน หลายระดับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจและสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
การวิเคราะห์สถานการณ์
จากสถานการณ์ภัยพิบัติทีเกิดขึ้นและการศึกษากระบวนการรับมือภัยพิบัติของประเทศที่ผ่านมา พบว่า ข้อมูลสถิติ และองค์ความรู้ที่เกิดจากการถอดบทเรียนการรับมือภัยพิบัติทั้งในระดับชาติและชุมชน ยังขาดแคลนข้อมูลอยู่มาก จำเป็นที่จะต้องมีการรวบรวมข้อมูล สถิติ และกรณีศึกษาการรับมือภัยพิบัติ เพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้ และจัดทำข้อมูลเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศที่มีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุที่ว่า การเกิดภัยพิบัติในแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน และกระจายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ ความเสียหายที่เกิดต่อระบบการคมนาคมขนส่ง ทำให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ องค์กรเอกชน และอาสาสมัครไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ในทันที ชุมชนที่มี่ความเข้มแข็ง มีการประสานงานภายในชุมชน รวมถึงมีการแบ่งบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนที่ชัดเจนในการรับมือภัยพิบัติทีเกิดขึ้น จะสามารถบรรเทาภัยที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าชุมชนที่ขาดการเตรียมความพร้อมในรับมือ ซึ่งสอดคล้องกับบทเรียนน้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา ดังนี้
ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 จนถึงมกราคม 2560 พื้นที่ภาคใต้เกิดภัยภาวะฝนตกหนักและพายุลมแรงในบางพื้นที่ ต่อเนื่องกันหลายวัน จนเกิดน้ำป่าไหลหลาก อ่างเก็บน้ำล้น Spring way ภูเขามีดินโคลนถล่ม และเกิดน้ำท่วมสูงในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ การเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่มครั้งนี้ เกิดขึ้นถึง 4 ครั้งต่อเนื่องกัน ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งชีวิต ทรัพย์สิน
ในขณะเกิดภัยพิบัติเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ จังหวัดพังงา ได้รับการประสานงานจากผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยไปศึกษาดูงานที่จังหวัดพังงา ขอให้ทำการช่วยเหลือเนื่องจากน้ำท่วมสูงในวงกว้าง ในพื้นที่ไม่มีความรู้ในการจัดการและไม่มีอุปกรณ์ / เรือ ในการช่วยเหลือกันเอง ขณะเดียวกันหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพยายามเข้าช่วยเหลือก็มีบุคคลกรจำกัด ทีมอาสาสมัครภัยพิบัติจากจังหวัดพังงาจึงได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและการช่วยเหลือให้เริ่มจัดการตนเอง โดยการสนับสนุนให้ตั้งศูนย์ประสานงานฯ หลังจากนั้นมีการสรุปบทเรียนร่วมกันของ 7 หมู่บ้าน
ประเด็นหลักของการสรุปบทเรียน
ภัยพิบัติเกิดจากอะไร ช่วงเกิดเหตุทำอะไรบ้าง และ เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งผลสรุปจากทุกกลุ่มตรงกัน ดังนี้
1) ภัยพิบัติเกิดจากอะไร ฝนตกหนัก/ การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนและไม่มีการพร่องน้ำ / มีการก่อสร้างขวางทางน้ำ ทั้ง ถนน ทางรถไฟ บ้านเรือน / และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนเขาทำให้ดินโคลนถล่ม
2) ช่วงเกิดเหตุทำอะไรบ้าง ผลปรากฏว่าทุกกลุ่มทำได้น้อยมาก เช่น ยกของขึ้น / อพยพหนีน้ำ / ประสานคนมาช่วย ทั้งนี้เพราะไม่ได้มีแผนเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
3) เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ปรากฏว่ามีปัญหาจำนวนมากทั้งช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด เช่น ไม่มีการเตือนภัยที่ชัดเจน / ไฟฟ้าดับ / ขาดเรือ / สัตว์เลี้ยงขาดอาหาร /พืชผล ทรัพย์สิน บ้าน รถเสียหาย /เก็บของไม่ทัน /ไม่มีที่เก็บของ / เครียดไข้ขึ้น /คนพิการ คนป่วยลำบากมาก /ถนนพัง /ไม่มีที่พัก / โรคระบาด /ขาดรายได้ /มีหนี้สิน /ไม่มีระบบกระจายของบริจาค ฯลฯ โดยสรุป คือ การไม่ได้เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เช่นกัน
ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ปี 2553 เรื่องการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ชุมชนลดความเสี่ยงภัยได้มากที่สุด และนายแพทย์ประเวศ วะสี ได้กล่าวในพิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในหัวข้อ “รับมือภัยพิบัติ จัดการสุขภาวะ” เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ว่าสังคมไทยคงจะเผชิญกับภัยพิบัติต่อไปในอนาคตข้างหน้าทั้งที่เป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ และวิกฤติในด้านต่างๆทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิกฤติการเมืองพร้อมเสนอ 6 แนวทาง คือ
- คนไทยต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกใหม่ ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะการคิดว่าจะไม่ประสบภาวะวิกฤติ จึงไม่มีใครเตรียมตัว และต้องเพิ่มสมรรถนะ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในข้อมูล
- สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วประเทศ เพื่อรับภัยพิบัติและจัดการภัยสุขภาวะ ต้องสำรวจข้อมูลภัยพิบัติในพื้นที่จะเกิดจากอะไร จะป้องกันและรับมืออย่างไร ต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง จะสื่อสารให้รู้ทั่วถึงกันอย่างไร ทำการซักซ้อมภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอ
- มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์ศึกษาภัยพิบัติเพื่อศึกษาลักษณะภูมิประเทศและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและชุมชนอย่างใกล้ชิด
- มีระบบการสื่อสารที่ให้รู้ความจริงอย่างทั่วถึงกัน
- มีเครื่องมือตัดสินใจทางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ควรตั้งคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งนอกจากมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการแล้ว ควรมีคณะกรรมการเสียงข้างมากที่มีความรู้ มาจากผู้นำชุมชน นักวิชาการและองค์กรอิสระ เพื่อสรรหาผู้มีความสามารถมาบริหารยุทธศาสตร์และทำงานต่อเนื่อง
- ออกพระราชบัญญัติป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ รวบรวมความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติทั้งหมดมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ทุกภาคส่วนแม้จะยังไม่รู้ว่าพิบัติภัยลำดับต่อไปที่คนไทยต้องเผชิญคืออะไร แต่บทเรียนที่คนไทยควรต้องเรียนรู้เสียทีหลังจากผ่านพ้นวิกฤติภัยครั้งแล้วครั้งเล่า ก็คือ ประเทศไทยไม่ได้ปลอดจากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะน้ำท่วม พายุฝนฟ้า ดินโคลนถล่ม อากาศหนาวเย็น ภาวะฝนแล้งยาวนาน หรือแม้กระทั่งแผ่นดินไหว และ สึนามิ ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนอาจพบเจอและต้องผ่านพ้น สิ่งที่ดีที่สุดในการเผชิญรับมือกับภัยต่างๆ เหล่านี้ก็ คือ การยอมรับและเตรียมตัวให้พร้อม
-----------------------------------
There is currently no content classified with this term.